แพทย์ มช. เตือนประชาชน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ควรหลีกเลี่ยงเมนูที่ปรุงจากเนื้อสัตว์แบบสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้ ส้า ซอยจุ๊ เสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง ทำหูดับ ตาบอด และเกิดภาวะอันตรายแทรกซ้อน ถึงขั้นเสียชีวิต
ผศ.นพ.ปรเมษฐ์ วินิจจะกูล อาจารย์ประจำหน่วยโรคติดเชื้อและเวชศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลหรือโอกาสสำคัญต่าง ๆ ประชาชนมักนิยมบริโภคเมนูลาบ หลู้ ก้อย ส้า แหนม และซอยจุ๊ ซึ่งทำมาจากเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ผ่านการปรุงสุกอย่างทั่วถึง อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus suis หรือไข้หูดับ โดยเชื้อจะอยู่ในทางเดินหายใจและในเลือดของหมู ที่กำลังป่วย สามารถติดต่อสู่คนได้จากการสัมผัสโดยตรง กับหมูที่ติดเชื้อ ทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค ผ่านทางบาดแผล เยื่อบุตา และการรับประทานเนื้อหมู หรือเลือดหมูที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ ซึ่งอาการป่วยจะเริ่มแสดงภายใน 3 วันหลังรับเชื้อ ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ ปวดตามข้อ และเมื่อเชื้อเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง และกระแสเลือด อาจทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีอาการซึม คอแข็ง หรือชักได้ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบ หรือลิ้นหัวใจอักเสบร่วมได้ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ รวมถึงเชื้อตัวนี้ยังสามารถลุกลามไปยังบริเวณปลายประสาทรับเสียง และปลายประสาททรงตัว ทำให้หูตึง หูหนวก สูญเสียการทรงตัว และนำไปสู่ความพิการถาวรได้
ซึ่งการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการปรุงสุกอย่างเหมาะสม ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อปรสิตหนอนพยาธิต่าง ๆ ซึ่งอาจนำไปสู่ผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ โดยเฉพาะปรสิตที่พบในเนื้อหมูและเนื้อวัว มีหลากหลายชนิด ได้แก่ พยาธิตืดหมู (Taenia solium) เป็นหนึ่งในพยาธิที่พบในเนื้อหมูที่ปรุงไม่สุก เป็นพยาธิตัวตืดที่สามารถทำให้เกิดโรคพยาธิตัวตืดในมนุษย์ได้ เกิดจากการรับประทานเนื้อหมู ที่มีการปนเปื้อนของซีสต์ลักษณะคล้ายเม็ดสาคูที่มีตัวอ่อนของพยาธิตืดหมู อาการของโรคนี้หากปล่อยไว้เป็นเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรง หรือภาวะทุพโภชนาการ รวมถึงผู้ที่ชอบรับประทานผักสดแกล้มอาหาร หากล้างไม่สะอาดก็มีโอกาสเกิดโรคพยาธิถุงตืดหมู (cysticercosis) จากการกินไข่พยาธิเข้าไป จากนั้นไข่พยาธิจะเจริญเป็นตัวอ่อน สร้างถุงหุ้มตัวอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายคน เช่น สมอง ตา หัวใจ ปอด และกล้ามเนื้อ ส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะนั้น ๆ หากอยู่ในสมองและไขสันหลัง (neurocysticercosis) อาจทำให้มีอาการทางระบบประสาท ชัก ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ หรือหากอยู่ในตาก็อาจทำให้ตาบอดได้เช่นกัน
นอกจากนี้ในเนื้อหมูยังมีพยาธิทริคิโนซิส Trichinella spiralis ซึ่งทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า Trichinosis หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โรคพยาธิในเนื้อหมู” เมื่อรับประทานเนื้อหมูที่มีตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ การติดเชื้อ Trichinella spiralis สามารถนำไปสู่การเกิดอาการคลื่นไส้, ท้องเสีย, ปวดท้อง, และอาจมีอาการไข้และอ่อนเพลียในระยะยาว นอกจากนี้ในบางกรณี การติดเชื้ออาจลุกลามไปยังกล้ามเนื้อและระบบประสาท อาจทำให้เกิดภาวะไตวายหรือหัวใจล้มเหลวจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
นอกจากการติดเชื้อจากเนื้อหมู ยังพบการติดหนอนพยาธิจากเนื้อวัวดิบหรือพยาธิตัวตืด Taenia saginata ซึ่งเกิดจากการรับประทานเนื้อวัวดิบ ที่ปนเปื้อนซิสต์หรือไข่พยาธิ สามารถทำให้เกิดโรคพยาธิตัวตืด ในมนุษย์ได้เช่นกัน แต่จะไม่พบการแพร่กระจายของถุงพยาธิแบบที่พบในพยาธิตืดหมู โดยจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง, คลื่นไส้, และท้องเสีย ในบางรายอาจพบภาวะลำไส้อุดตันได้ หากไม่รักษาอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินอาหารในระยะยาว เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เหนื่อยล้า อ่อนเพลียง่าย หรือภาวะทุพโภชนาการ เป็นต้น
ผศ.นพ.ปรเมษฐ์ วินิจจะกูล อาจารย์ประจำหน่วยโรคติดเชื้อและเวชศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการที่ควรระวังหลังรับประทานเนื้อหมูหรือเนื้อวัวดิบ หากมีอาการ ปวดท้อง, คลื่นไส้, ท้องเสีย, หรือมีไข้ หลังจากรับประทานเนื้อหมูหรือเนื้อวัวดิบ ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว ซึ่งการติดเชื้อดังกล่าวสามารถรักษาให้หาย และลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ๆ ด้วยยาปฏิชีวนะหรือฆ่าพยาธิที่ตรงกับการวินิจฉัยโรค จึงไม่แนะนำให้ซื้อยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าพยาธิ หรือยาถ่ายมารับประทานเอง เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงของยาหรือภาวะแทรกซ้อนจากตัวโรคหากรักษาไม่ถูกต้อง
ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อจากการบริโภคเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อหมูและเนื้อวัวดิบ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรตระหนัก และปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสุขอนามัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงการเจ็บป่วยที่สามารถป้องกันได้ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงนี้ เครื่องปรุงต่าง ๆ ที่ใช้ในการปรุงลาบ หลู้ ก้อย หรือส้า จะไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคหรือหนอนพยาธิเหล่านี้ได้ แต่การปรุงเนื้อสัตว์ให้สุกอย่างทั่วถึง หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุก เป็นการป้องกันการติดเชื้อจากเนื้อหมูและเนื้อวัว ที่ทุกคนสามารถทำได้
เรียบเรียง : นางสาวสมัชญา หน่อหล้า
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่